(1) ภาพแนวกระดูกสันหลัง ในการขี่รถประเภทต่างๆ
(2) ท่านั่งที่ผิด จะทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะผิดรูป สร้างความเมื่อยล้าในการขับขี่
(3) เมื่อรู้สึกเกร็ง,เมื่อยไหล่ ควรผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวโดยปล่อยน้ำหนักลงตามแนวดิ่ง
(4) ตำแหน่งของแขนที่ดี เมื่อวางบนแฮนแล้วควรมีลักษณะโค้งและผ่อนคลาย
(5) แขนตึง จะทำให้เลี้ยวและคุมคันเร่งได้ยาก
(67)แขนโก่ง จะทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการขับขี่อย่างรวดเร็ว
(7) ลักษณะการจับแบบ V-Grip ที่ใช้อย่างแพร่หลายในกีฬาประเภทต่างๆ
(8) การจับแบบกำหมัด จะทำให้ข้อมือถูกล็อคจนไม่สามารถใช้คันเร่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(9) ข้อมือไม่ควรหักงอมาก เพราะมีผลต่อการใช้คันเร่งเช่นกัน
(10) ขาควรแนบถังไว้เสมอ เพราะเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมรถ
(11) การวางเท้า เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญแต่หลายคนมองข้าม
คุณลองขยับเก้าอี้ทำงานจากตำแหน่งปกติของมันไปซักคืบ แล้วดูซิว่าคุณรู้สึกยังไง? บางคนอาจทนได้แต่คุณก็ทำงานได้ไม่ถนัดเหมือนปกติ ในขณะที่บางคนอาจถึงขนาดทำงานไม่ได้เลย นั่นแสดงให้เห็นว่าท่านั่งที่ถูกต้องและเหมาะสมกับตัวคุณจะทำให้คุณรู้สึกอิสระ, คล่องตัว และสามารถใช้ร่างกายได้อย่างที่ต้องการ
เช่นเดียวกันกับท่านั่งในการขี่มอเตอร์ไซค์ ที่อาจฟังเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ พื้นๆ ซึ่งหลายคนไม่ได้ให้ความสนใจ แต่จริงๆแล้วมันมีส่วนสำคัญในการที่จะทำให้เราควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันความเมื่อยล้าอันเกิดจากการขับขี่ทางไกลอีกด้วย เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเราไปดูกันทีละข้อเลยแล้วกัน
1. หลัง
จะเห็นว่าโดยปกติกระดูกสันหลังของคนเราจะเป็นรูปคล้ายตัวเอส (S) ซึ่งนั่นคือตำแหน่งที่ดีที่สุดที่กระดูกจะทำหน้าที่รับน้ำหนักตัว อันเป็นท่านั่งที่ถูกต้องทำให้เราไม่เมื่อยล้า ในการขี่มอเตอร์ไซค์ก็จะใช้หลักการเดียวกันคือพยายามรักษารูปทรงตัวเอสไว้ แต่เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์มีหลายประเภทท่านั่งจึงอาจมีความแตกต่างกันไปบ้างตามวัตถุประสงค์ของรถ สังเกตได้จาก ภาพที่(1) แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าลักษณะของกระดูกสันหลังยังคงเป็นรูปตัวเอสดังที่กล่าวมาข้างต้น
ถ้าหลังอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้เร็ว อันจะเป็นการสร้างความเครียดในการขี่โดยเฉพาะในการขี่เพื่อเดินทางไกล อีกทั้งยังทำให้บังคับรถได้ไม่คล่องตัวอีกด้วย ที่พบเห็นกันบ่อยๆ คือ
หลังแอ่น: ทำให้เมื่อยช่วงเอวเหนือสะโพก และบังคับรถยากเพราะตัวอยู่ห่างจากรถโดยเฉพาะที่ความเร็วสูง (เพราะต้านลม) อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงแขนที่จะอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย
หลังโก่ง: ทำให้เมื่อยช่วงบ่า, หัวไหล่ และปีก (หลังส่วนบน) ซึ่งจะล้าได้เร็วกว่าแบบแรก อีกทั้งยังมีส่วนทำให้ศรีษะก้มต่ำกว่าตำแหน่งปกติ จึงมีทัศนวิสัยในการมองเห็นต่ำอีกด้วย
2. ไหล่
จริงๆแล้วข้อนี้ดูไม่น่าจะมีรายละเอียดอะไรมากเพราะด้วยท่านั่งในการขี่มอเตอร์ไซค์ทำให้ไหล่ขยับได้น้อย แต่เวลาเกิดอาการปวดเมื่อยจากการขับขี่ ไหล่จะอยู่ในอันดับต้นๆทีเดียว ซึ่งปัญหานี้มักจะเกิดกับผู้ขี่ที่วางแขนอยู่ในลักษณะตึงเกินไป และพบบ่อยในผู้ที่ขี่รถสปอร์ต เนื่องจากจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่โน้มตัวไปข้างหน้า โดยเฉพาะที่ความเร็วสูงเพื่อก้มหลบลมและบังคับรถ ทำให้หลายคนเกร็งแล้วยกไหล่ขึ้นและอาจห่อไหล่เข้าหากันโดยไม่รู้ตัว (เครียดจากความเร็ว)
วิธีแก้เมื่อรู้สึกเกร็งบริเวณไหล่คือ หายใจเข้าลึกๆ พร้อมกับยกไหล่ขึ้นให้สุด เสร็จแล้วหายใจออกพร้อมทิ้งหัวไหล่ปล่อยลงในตำแหน่งปกติ แล้วย้ายความรู้สึกไปที่หลังบริเวณเอวซึ่งเป็นจุดที่ใช้รับน้ำหนักตัว ดังเช่น ภาพที่(3)
ส่วนวิธีป้องกันคือ เวลาขี่ควรให้ไหล่อยู่ในตำแหน่งปกติ ปล่อยน้ำหนักลงตามสบาย (เหมือนเวลาคุณนั่งเก้าอี้) อย่าทิ้งน้ำหนักมาที่แขนหรือบริเวณบ่า และที่สำคัญ “อย่าขี่เร็ว” อย่างที่เขียนไว้ข้างบนว่าการที่เราตั้งไหล่ขึ้นหรือห่อไหล่เข้าหากัน เป็นเพราะเครียดจากความเร็ว ลองถามตัวเองดูซิว่า... จะรีบไปไหน?? จุดหมายมันไม่ได้วิ่งหนีคุณอยู่นะ มันก็อยู่ที่เดิมของมันนั่นแหละ ค่อยๆขี่ไปเรื่อยๆ ในความเร็วที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง มันก็ถึงเหมือนกัน... คุณว่ามั๊ย?
3. แขน
แขน เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการควบคุมรถ โดยในความเร็วต่ำแขนจะทำหน้าที่ในการเลี้ยวรถ ส่วนในความเร็วสูงจะทำหน้าที่เหมือนกันสะบัด คือควบคุมช่วงหน้ารถให้นิ่ง และช่วยลดอาการ “ชกมวย” เมื่อล้อหน้าลอยจากพื้น โดยจะทำหน้าที่ซับแรงสะบัด (ชกมวย) จากแฮนด์ที่จะส่งไปถึงตัวผู้ขี่ไม่ให้ถูกดีดลอยออกจากรถ ...ในการขับขี่ทั่วไปแขนควรจะอยู่ในลักษณะผ่อนคลาย ไม่เกร็ง โดยผู้ขี่วางมือลงบนแฮนด์และปล่อยน้ำหนักของแขนลงที่มือ (ไม่ใช่ออกแรง “กด” ) งอข้อศอกออกด้านข้างเล็กน้อยเพื่อไม่ให้แขนตึง แขนจะมีลักษณะโค้งเมื่อมองจากด้านบนดังภาพที่(4) เมื่อทำมาถึงจุดย้ำกับตัวเองอีกครั้งว่า “อย่าเกร็ง”
ลักษณะของแขนที่ผิดมีให้เห็นบ่อยครั้งและมีผลต่อการบังคับควบคุมรถ โดยบางคนอาจไม่รู้ตัว บางคนไม่เห็นความสำคัญของตำแหน่งที่ถูกต้องและอาจคิดว่า “ก็ตูขี่อย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เห็นเป็นไรนี่หว่า...” งั้นเรามาลองดูกันว่าลักษณะที่ผิดมีอะไรบ้างและจะเกิดผลเสียอย่างไร
3.1 แขนตึง (ภาพที่(5))
อันนี้เห็นบ่อยที่สุดสาเหตุอาจเป็นเพราะนั่งหลังแอ่น หรือ ทิ้งน้ำหนักตัวมาที่มือมากเกินไป หรือ มีช่วงแขนสั้น ฯลฯ ซึ่งจะมีผลเสียตามมาหลายประการคือ
- เลี้ยวยาก : โดยเฉพาะในความเร็วต่ำ เพราะเมื่อแขนตึงก็เหมือนกับแขนถูกล็อกทำให้หักแฮนด์เลี้ยวได้น้อยและรู้สึกฝืนๆ วงเลี้ยวจึงกว้างแม้ในความเร็วต่ำ
- คุมคันเร่งและเบรกลำบาก : เมื่อแขนตึงน้ำหนักจะถูกกดลงมาที่ฝ่ามือ ทำให้ข้อมือถูกล็อคไม่สามารถขยับได้เหมือนปกติการควบคุมคันเร่งและเบรกจึงทำได้ยาก
.- เมื่อรถสะบัด... มีสิทธิ์กระเด็น !!! : สมมุติว่ารถมีอาการสะบัดหรือดีดที่ล้อหน้า (เช่น เมื่อตกหลุมหรือกระแทกวัตถุบนพื้นถนนที่ความเร็วสูง) แขนที่เหยียดตึงก็ไม่ต่างอะไรจากท่อนไม้ที่ต่อจากแฮนด์ตรงมายังตัวผู้ขี่ ดังนั้น แรงดีดดังกล่าวจึงถูกส่งมาถึงตัวคุณ 100%!!! แล้ววินาทีต่อจากนั้น... “เหินฟ้า” สิคับทั่น
- ปวดข้อมือ : อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเมื่อแขนตึงน้ำหนักจะถูกกดลงไปที่ฝ่ามือ นั่นหมายความว่าน้ำหนักตัวช่วงบนจะมารวมอยู่ที่บริเวณข้อมือ ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยหากต้องขี่รถเป็นเวลานาน
- ปวดหลัง : เมื่อแขนเหยียดตึงทำให้หลังมีลักษณะ”แอ่น”ตามไปด้วย (ก้มไม่ได้เพราะแขนค้ำอยู่) ข้อนี้จะเห็นผลชัดมากในผู้ขี่ที่ตัวสูง หรือแขนยาว
3.2 แขนโก่ง (ภาพที่(6))
อันนี้มีให้เห็นบ้าง โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนขี่มือใหม่ที่ยังหาท่าที่เหมาะกับตัวเองไม่ได้หรืออาจเป็นเพราะยังเกร็งอยู่ แต่ส่วนใหญ่อาการนี้จะหายไปเองเพราะทนเมื่อยไม่ไหว ซึ่งเป็นข้อเสียเพียงอย่างเดียวของท่านี้ โดยอาการเมื่อยที่ว่าจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ขี่ (อย่างต่อเนื่อง) ถ้าขี่ในเมืองเล็กๆน้อยๆ อาจไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าขี่เดินทางไกลจะรู้สึกเมื่อยล้าอย่างชัดเจน ซึ่งหากเป็นมากอาการเมื่อยล้าจะลามไปถึงหัวไหล่และบ่า
4. มือ-ข้อมือ
มือ - เป็นส่วนสำคัญในการคุมความเร็วของรถ โดยเฉพาะมือขวาเพราะต้องคุมทั้งคันเร่งและเบรกหน้า (ซึ่งเป็นเบรกหลัก) ดังนั้นการวางตำแหน่งมือที่ดีจะทำให้เราสามารถควบคุมความเร็วของรถได้อย่างต้องการ ในทุกสถานการณ์
การวางตำแหน่งมือที่ดีจะทำให้สามารถจับแฮนด็ได้อย่างกระชับ ไม่เกร็ง และสามารถขยับข้อมือได้อย่างอิสระ โดยรูปแบบที่นิยมใช้ทั่วไปคือการจับแบบ V-Grip คือนิ้วโป้งกับนิ้วชี้จะมีลักษณะเหมือนตัว V โดยที่มีแฮนด์อยู่กึ่งกลาง (ภาพที่(7)) ซึ่งการจับแบบนี้จะเป็นแบบเดียวกับที่เราใช้ในการจับแร็กเก็ตต่างๆ เช่นไม้เทนนิส, ไม้แบดฯ, ไม้ปิงปอง, ฯลฯ หรือแม้กระทั่งไม้กอล์ฟ โดยในตำแหน่งนี้จะทำให้ข้อมือสามารถขยับ, หมุน หรือบิดได้ดีที่สุด และเป็นตำแหน่งที่นิ้วอยู่ใกล้กับก้านเบรก, ก้านคลัทช์มากที่สุดด้วย
ลักษณะการวางมือที่ผิดเห็นได้ชัดคือ การกำแฮนด์เหมือนกำหมัด ดังในภาพที่(8) ลักษณะนี้ข้อมือจะถูกล็อคทำให้ขยับไม่สะดวก (ขยับได้ในมุมจำกัด) และยังมีผลให้ออกแรงกำแฮนด์มากเกินไปจึงเกิดความเมื่อยล้าบริเวณฝ่ามือ การกำแบบนี้จึงเหมาะสำหรับการยกของหรือการชกมากกว่า
ข้อมือ - เมื่อวางมือลงบนแฮนด์แล้วข้อมือควรอยู่ในลักษณะที่งอเพียงเล็กน้อยเพราะถ้าหากอยู่ในลักษณะหักงอมากดังในภาพที่(9) จะทำให้คุณไม่สามารถใช้คันเร่งได้ และจะรับภาระอย่างมากเมื่อเกิดการเบรก เพราะน้ำหนักที่ถ่ายมาด้านหน้ามาลงที่บริเวณข้อมือ ทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้เช่นกัน
5. ขา-เท้า
.ขาและเท้ามีความสำคัญมากในการควบคุมรถไม่ว่าจะเป็นการเบรก การทรงตัว และโดยเฉพาะการเลี้ยว เพราะเมื่อรถวิ่งคุณจะไม่สามารถหักแฮนด์เพื่อเลี้ยวได้เหมือนเวลารถจอดอยู่เฉยๆ หรือที่ความเร็วต่ำมากๆ ซึ่งการเลี้ยวดังกล่าวจะต้องใช้การถ่ายน้ำหนักเป็นตัวช่วยเพื่อดึงรถให้เข้ามาในเส้นทางที่เราต้องการ ขาและเท้าจึงต้องทำหน้าที่ในการล็อคตัวผู้ขี่ให้อยู่กับรถและเพื่อการถ่ายน้ำหนัก คราวนี้เรามาดูในแต่ละจุดว่ามีอะไรบ้าง ..........
ขาหนีบถัง
ตำแหน่งที่ถูกต้องของขาควรจะอยู่แนบชิดกับถังน้ำมัน (แต่ไม่ถึงขนาดเกร็งหรือหนีบตลอดเวลา) เพราะเป็นจุดที่ขาสามารถล็อคกับตัวรถได้ดีที่สุด เพื่อความกระชับ, มั่นคงพร้อมสำหรับหรับการควบคุมรถในสถานการณ์ต่างๆ เช่น
• เมื่อเบรก – ผู้ขี่ต้องออกแรงหนีบถัง เพื่อล็อคไม่ให้ตัวไถลไปข้างหน้าอันจะเป็นการสร้างภาระให้แขนและมือ ซึ่งจะมีผลต่อกับบังคับทิศทางของรถในขณะเบรก สังเกตุในภาพผู้ขี่เบรกหน้าอย่างแรงจนล้อหลังลอยแต่น้ำหนักไม่ได้อยู่ที่แขนเลย (แขนงอปกติ) เพราะใช้ขาหนีบถังล็อคตัวไว้นั่นเอง
• เมื่อเข้าโค้งความเร็วต่ำ - ขาที่หนีบถังโดยเฉพาะด้านนอกของโค้งจะช่วยให้ผู้ขี่สามารถคุมการเอียงของรถได้อย่างมั่นใจ โดยปล่อยให้แขนและมือเป็นตัวควบคุมทิศทางและความเร็วของรถ
• เมื่อเข้าโค้งความเร็วสูง – ขาที่หนีบถังจะล็อคตัวผู้ขี่ให้มั่นคงในตำแหน่งที่ต้องการ และในกรณีการโหนรถ (Hang On) ผู้ขี่จะใช้ขาด้านนอกเพื่อเกี่ยวตัวขณะโหนรถ ตำแหน่งขาที่กระชับจะทำให้คุณโหนได้แบบ ชะนีเรียกพี่เลยหล่ะ
**ลักษณะการวางขาที่ผิดที่เห็นประจำ**
คือ ขาแบะออกจากตัวรถ ลักษณะดังกล่าวนี้จะทำให้คุณไม่สามารถใช้ลำตัวช่วงล่าง (ตั้งแต่เอวถึงข้อเท้า) ในการควบคุมรถได้เลย ดังนั้นภาระในการควบคุมรถเกือบทั้งหมดจะตกไปสู่แขนและมือทันที นี่แหละคือสาเหตุที่ว่า เวลาขี่รถบนเขาหรือถนนที่มีโค้งเยอะๆ ติดๆกัน แล้วคุณปวดมือ ปวดแขน และที่เด็ดกว่านั้นเวลาที่รถตกหลุมหรือล้อกระแทกวัตถุใดๆบนพื้นถนนโดยที่คุณไม่ได้ตั้งตัว น้องชายและบริวารทั้งสองของคุณจะกระแทกเข้ากับถังน้ำมันแบบ”เน้นๆ”...อูยยยยส์.... พระเจ้ายอด มันจอร์จมาก!!!!
เท้าวางบนพักเท้า
ตำแหน่งที่ถูกต้องควรวางกึ่งกลางเท้าบนพักเท้า โดยให้ส่วนปลายของเท้าวางอยู่บนคันเกียร์ (ข้างซ้าย) และคันเบรก (ข้างขวา) และปลายเท้าทั้ง 2 ข้างชี้ไปด้านหน้ารถ ซึ่งหากมองจากด้านข้างจะเห็นว่าข้อเท้าจะทำมุมประมาณ 90 องศา อันเป็นลักษณะเดียวกับเวลาเรายืนปกติ.... การวางเท้าในตำแหน่งที่ถูกต้องจะช่วยให้เราสามารถถ่ายน้ำหนักตัวเวลาเข้าโค้งได้อย่างรวดเร็ว เปลี่ยนเกียร์และใช้เบรกหลังได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
**ลักษณะการวางเท้าที่ผิด**
นี่ก็มีให้เห็นประจำเหมือนกัน อาจะเป็นเพราะผู้ขี่ไม่ได้คิดว่าจะมีผลกระทบกับการขับขี่ หรืออาจเป็นความเคยชินที่วางเท้าแบบนี้ตั้งแต่เริ่มแรกก็เลยไม่คิดจะเปลี่ยน ไม่รู้แหละเหตุผลของใครของมัน เอาเป็นว่ามาลองดูแล้วกันว่ามีอะไรบ้าง
X ปลายเท้าอยู่ใต้คันเกียร์/เบรก
ผลเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างแรกเลยคือคุณจะไม่สามารถใช้เบรกหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากเท้าอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว เมื่อคุณต้องการเบรกก็จะต้องเลื่อนเท้าออกจากตำแหน่งนั้นแล้วยกขึ้นมาไว้เหนือคันเบรก (นี่เสียเวลาไปแล้วหน่อยนึง) ณ จุดนี้เองเท้าจะ ”ลอย” อยู่เหนือเบรก ทำให้เราไม่สามารถกะน้ำหนักที่จะกดลงไปบนเบรกได้ว่าควรจะออกแรงมากน้อยเท่าไหร่ ข้ามมาดูเท้าที่อยู่ฝั่งเกียร์กันบ้าง โอเค..ตำแหน่งนี้บางคนอาจจะบอกว่าทำให้เปลี่ยนเกียร์ขึ้นได้เร็ว (เพราะเท้าอยู่ในตำแหน่งรองัดเกียร์แล้ว) แต่ผมถามหน่อย...ในการขี่ปกติ ระหว่างเปลี่ยนเกียร์ขึ้นเพื่อเพิ่มความเร็ว กับลดเกียร์ลงเพื่อลดความเร็ว อันไหนสำคัญกว่ากัน? สมมุติในกรณีที่เราจะต้องเชนจ์เกียร์ลงเพื่อลดความเร็ว (อย่างเช่นในกรณีขี่ลงเขา) หากเท้าอยู่ใต้คันเกียร์เราจะต้องเสียเวลายกเท้ามาไว้ข้างบน ที่สำคัญกว่านั้นในจังหวะที่ยกเท้า หากยกพลาดไปแตะโดนคันเกียร์เข้า (ซึ่งเจอบ่อย) แทนที่รถจะลดความเร็วลงกลับยิ่งพุ่งเร็วขึ้น ถึงนาทีนั้นก็ตัวใครตัวมันนะคร้าบบบบ...
X ปลายเท้าแบะออกด้านข้าง
ลองนั่งแยกขาแล้วแบะปลายเท้าออกจากกัน คุณจะหนีบเข่าชนกันไม่ได้!!! ดังนั้นหากนั่งแบะปลายเท้าออกด้านนอก คุณจะไม่สามารถนั่งหนีบถังน้ำมันได้ นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่หลายคนแม้พยายามจะนั่งหนีบถังแต่พอลืมตัวขาก็จะแบะทุกที สาเหตุเป็นเพราะวางเท้าไม่ถูกนี่แหละ ผลเสียก็อย่างที่เขียนไว้ในข้อ การนั่งแบะขาที่ได้อ่านไปแล้ว.
ส่วนข้อเสียอีกข้อนึงก็คือขณะเข้าโค้งหรือเลี้ยว ซึ่งรถจะต้องเอียงเข้าหาพื้น มีโอกาสสูงที่ปลายเท้าจะโดนพื้น ซึ่งค่อนข้างอันตรายสำหรับมือใหม่ เพราะอาจจะตกใจแล้วตั้งรถขึ้น ทำให้รถบานออกนอกไลน์แล้วเกิดการแหกโค้งได้
สำหรับปัญหาเรื่องปลายเท้าเนี่ยผมเคยเจอกับตัวเองคือ ผมวางส่วนปลายของเท้าบนคันเบรก/เกียร์ไม่ได้!!! เพราะเมื่อวางแล้วมันรู้สึกขัดๆ เกร็งๆ บริเวณข้อเท้า (ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีหลายคนเกิดปัญหานี้เหมือนผม) ก็เลยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการวางปลายเท้าไว้ข้างล่างคันเบรก/เกียร์ ซึ่งมัน”ผิด”อย่างที่เราได้อ่านกันไปข้างบนแล้ว จริงๆแล้วสาเหตุของปัญหานี้คือ คันเบรก/เกียร์อยู่ในตำแหน่งที่สูงเกินไป... ทำให้เมื่อวางปลายเท้าบนคันเบรก/เกียร์ ปลายเท้าจึงอยู่ในลักษณะถูก “ดัน” ขึ้นจากตำแหน่งปกติ ทำให้ผู้ขี่รู้สึกขัดๆ หรือเกร็งที่ข้อเท้าเมื่อขี่ไปได้ระยะหนึ่ง วิธีแก้ง่ายๆ คือปรับตำแหน่งคันเบรก/เกียร์ ให้อยู่ในตำแหน่งที่เราวางเท้าอยู่ข้างบนแล้วรู้สึกปกติเหมือนเวลายืนตรง (เท้าทำมุม 90 องศากับขา) เพียงเท่านี้ปัญหาเท้าแบะ เท้าชี้ลงพื้นก็จะหายไป
เขียนมาซะยืดยาวสำหรับเรื่องท่านั่งคงต้องขอจบแค่นี้ก่อน ฝากไว้นิดนึงสำหรับผู้ที่เริ่มฝึกหรือมือใหม่ทุกท่านว่า... จริงๆแล้วสิ่งที่ผมเขียนเป็นเพียงแค่หลักคร่าวๆ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของคุณ แต่ในที่สุดแล้วท่านั่งของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามสรีระและความรู้สึกส่วนตัว เพราะท่านั่งที่ดีที่สุดคือท่าที่เรานั่งแล้วรู้สึกสบายและสามารถควบคุมรถได้ในทุกสถานะการณ์
เนื้อหาจาก http://www.soryon.com/2.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น